ประโยชน์ของโครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียน
“โครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียน คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ
และสามารถผลิตปุ๋ยโปแตชออกจำหน่ายได้ในราวปี พ.ศ. 2560
ซึ่งจะสร้างประโยชน์ ต่อประเทศชาติและชุมชนในหลายด้าน”
- ผลิตปุ๋ยโปแตสเซียมเพื่อใช้ภายในประเทศ ลดการพึ่งพาการนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศได้ถึงกว่าปีละ 9,800 ล้านบาท ทำให้เกิดเสถียรภาพด้านราคาปุ๋ยให้แก่ภาคเกษตรกรรมในประเทศ
- ส่งออกปุ๋ยโปแตสเซียม นำรายได้เข้าประเทศกว่าปีละ 10,000 ล้านบาท ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถเพิ่มศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางในด้านการผลิตปุ๋ยในภูมิภาคในอนาคต
- ทำให้ภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้จากค่าภาคหลวง ค่าภาษีอากร ตลอดจนค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ในการพัฒนาประเทศและท้องถิ่น
- เกิดการจ้างงานในท้องถิ่นโดยตรงกว่า 1,000 อัตรา ทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในชุมชน อีกทั้งทำให้คนในท้องถิ่นได้กลับมาทำงานยังบ้านเกิด ครอบครัวได้อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาอย่างอบอุ่น สังคมเข้มแข็ง
“เราภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
ซึ่งจะเป็นก้าวแรกในการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านการเกษตร
เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตและรายได้กับพี่น้องเกษตรกรอย่างยั่งยืนต่อไป”
โครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียนกับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม
“เราตระหนักเสมอว่า การประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจไม่ใช่แค่เพียงแสวงหาผลกำไร หากแต่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย จึงจะสามารถประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน”
จากเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นดำเนินงานบนพื้นฐานของความถูกต้องและจริงใจ โครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียนจึงวางมาตรการการบริหารจัดการผลกระทบ บนพื้นฐานของหลักการ 4 ด้าน เพื่อให้ครอบคลุมทั้งการจัดการสิ่งแวดล้อมและสังคมในพื้นที่โดยรอบอย่างเป็นระบบ กล่าวคือ

แนวทางดำเนินการแรก ที่บริษัทฯ ต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง คือ การเฝ้าระวัง (Monitoring) ซึ่งเป็นมาตรการเชิงป้องปรามเพื่อป้องกันผลกระทบอันเกิดจากการทำเหมืองแร่โปแตชของโครงการฯ ที่อาจจะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ในการนี้ เพื่อเป็นการป้องกันและสร้างความมั่นใจ บริษัทฯ ได้ออกแบบการทำเหมืองตามหลักมาตรฐานสากล ที่ได้รับการยอมรับและทำกันมาแล้วเป็นร้อยปี รวมถึงการตั้งกองทุนศึกษาวิจัยของผู้มีส่วนได้เสียในโครงการฯ (ตามมาตรา 88/10 ของ พรบ. แร่ พ.ศ. 2510 ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2545) และกองทุนสนับสนุนการมีส่วนร่วมตรวจสอบการทำเหมืองใต้ดิน (ตามมาตรา 88/11)
อย่างไรก็ตาม หากเกิดเหตุการณ์ใดที่อาจเป็นผลมาจากการดำเนินโครงการฯ การบรรเทา (Relief) จะเป็นมาตรการถัดมาเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนและเฉพาะหน้า โดยมีแผนประกันภัยความรับผิดชอบ (ตามมาตรา 88/13)และมาตรการการฟื้นฟู (Restoring) เพื่อปรับสภาพสิ่งแวดล้อมให้กลับสู่สภาพใกล้เคียงกับสภาวะก่อนเกิดผลกระทบที่สุดจะเป็นมาตรการระยะยาวที่จะตามมา
ท้ายสุด หลักการพัฒนา (Development) จะเป็นมาตรการเชิงรุก ที่เน้นไปที่การพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในพื้นที่ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับชุมชน ดังที่บริษัทฯ ได้ดำเนินการมาแล้วอย่างต่อเนื่อง อาทิ การสนับสนุนการศึกษาในด้านต่าง ๆ หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ สนับสนุนโครงการพัฒนาอาชีพ เช่น การเพาะเห็ด การปลูกผักปลอดสารพิษ เป็นต้น