ข้อมูลโครงการ
 
แหล่งน้ำใช้ของโครงการ

โครงการฯ จะใช้น้ำส่วนที่เกินจากความต้องการของประชาชนโดยจะไม่มี

การแย่งน้ำใช้จากประชาชนอย่างแน่นอน เพื่อให้การทำเหมืองสามารถอยู่ควบคู่

ไปกับวิถีชุมชนได้อย่างยั่งยืน

 

โครงการฯ ได้ว่าจ้างบริษัท สยาม-เทค กรุ๊ป จำกัด ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านแหล่งน้ำมาทำการศึกษาแนวทางในการจัดหาแหล่งน้ำดิบสำหรับใช้ในโครงการฯ โดยได้ทำการศึกษาแหล่งน้ำต้นทุนที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะสามารถนำมาใช้ในกิจกรรมของโครงการฯ  แนวทางการผันน้ำไปยังโครงการฯ และการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำดิบ  ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจว่าโครงการจะไม่มีการแย่งน้ำใช้จากประชาชน โดยจะใช้น้ำส่วนที่เกินจากความต้องการของประชาชนเท่านั้น

จากการศึกษาทบทวนศักยภาพของอ่างเก็บน้ำลำคันฉู พบว่ามีศักยภาพสูงที่จะพัฒนานำน้ำต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำมาใช้ในกิจกรรมของโครงการได้ เนื่องจากอ่างเก็บน้ำลำคันฉูมีปริมาณน้ำต้นทุนมั่นคงตลอดทั้งปี ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำจัดสรรน้ำเพื่อการชลประทานท้ายอ่างเก็บน้ำลำคันฉูเป็นหลัก ซึ่งใช้น้ำมากในฤดูฝน แต่ฤดูแล้งเกษตรกรยังใช้น้ำน้อยอยู่ เนื่องจากปลูกพืชฤดูแล้งค่อนข้างน้อย และปริมาณความต้องการใช้น้ำของโครงการฯ คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 4.78 ของปริมาณน้ำท่าที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำลำคันฉูเท่านั้น

 

แนวทางในการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำคันฉู

● ผันน้ำในช่วงที่น้ำต้นทุนในอ่างมีปริมาณมากพอและไม่กระทบกับการใช้น้ำเพื่อกิจกรรมอื่นๆ ที่มีอยู่เดิมของอ่างเก็บน้ำ เช่น เพื่อการชลประทาน การอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศน์ในลำน้ำลำคันฉู

● ช่วงเวลาที่สามารถผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำคันฉูไปใช้ในโครงการฯ โดยไม่มีความเสี่ยงต่อการขาดน้ำ คือ ช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน - มิถุนายน รวมระยะเวลา 8 เดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีน้ำต้นทุนในอ่างมาก ขณะที่ความต้องการใช้เพื่อการชลประทานตลอดช่วงเวลาดังกล่าวไม่มากนัก

 

การพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำดิบสำหรับโครงการฯ

จากการสำรวจพบว่าแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้พื้นที่โครงการที่มีศักยภาพสูงสุดที่จะพัฒนาเป็นแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อรองรับน้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำลำคันฉู คือ บึงทะเลสีดอ ซึ่งเป็นบึงน้ำสาธารณะประโยชน์ มีขนาดพื้นที่ประมาณ 300 ไร่ อยู่ห่างจากอ่างเก็บน้ำลำคันฉูไปทางทิศตะวันออกประมาณ 26 กิโลเมตร โดยโครงการฯ ได้ทำการศึกษาแนวทางที่จะพัฒนาปรับปรุงความสามารถในการรับน้ำของบึงทะเลสีดอเพื่อกักเก็บน้ำดิบ ดังนี้

● พัฒนาบึงทะเลสีดอให้มีความจุประมาณ 3.6 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือประมาณเดือนละ 0.45 ล้านลูกบาศก์เมตรในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน – มิถุนายน

● ระดับน้ำเก็บกักของบึงที่ขุดลอกแล้วกำหนดเท่ากับระดับเก็บกักปัจจุบันของบึงเพื่อให้สามารถระบายน้ำจากพื้นที่ลุ่มน้ำลงสู่บึงทะเลสีดอได้ตามปกติ

● ปริมาณน้ำเก็บกักต่ำสุด 0.48 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อการรักษาระบบนิเวศของบึงทะเลสีดอนั้น สามารถเป็นปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินของโครงการฯได้ไม่น้อยกว่า 50 วัน

 

นอกจากนี้ โครงการฯ จะก่อสร้างบ่อน้ำใช้ในกระบวนการแต่งแร่ความจุประมาณ 50,000 ลูกบาศก์เมตร ไว้ในบริเวณพื้นที่โรงแต่งแร่ มีโครงสร้างบ่อเป็นพื้นคอนกรีต โดยมีความลึกของการเก็บน้ำสูงสุด 5 เมตร มีความลาดเอียง 1:1.5 และปูพื้นบ่อด้วย HDPE หนา 1.5 มิลลิเมตร โดยจะรับน้ำจากบึงทะเลสีดอและนำมากักเก็บไว้ในบ่อนี้ก่อนที่จะส่งเข้ากระบวนการแต่งแร่ นอกจากนี้ โครงการฯ ยังจะมีการหมุนเวียนน้ำใช้ในกระบวนการผลิตกลับ มาใช้ใหม่ โดยจะไม่มีการปล่อยน้ำปนเปื้อนออกสู่ภายนอกโรงงานอย่างแน่นอน