การกำเนิดของแหล่งโพแทช
โพแทชเป็นชื่อสามัญที่ใช้เรียกสารประกอบที่มีธาตุโพแทสเซียม (K) เป็นองค์ประกอบหลัก โดยแหล่งโพแทช ตามธรรมชาติเกิดขึ้นจากการที่น้ำทะเลถูกขังอยู่ในแอ่งเป็นเวลานานนับล้านปี เมื่อน้ำทะเลระเหยไปจนหมดแร่ธาตุต่างๆ ในน้ำทะเลก็จะเริ่มตกตะกอน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วย เกลือโซเดียมคลอไรด์, โพแทสเซียมคลอไรด์ และเกลือแมกนีเซียมคลอไรด์ หลังจากนั้นได้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกผืนแผ่นดินได้เคลื่อนตัวมาทับถมแอ่งเหล่านั้น จนทำให้เกิดแหล่งโพแทชและเกลือหินอยู่ใต้ผิวโลก ทั่วโลกนั้นพบแหล่งแร่โพแทชอยู่ไม่กี่แห่ง โดยแหล่งใหญ่ที่พบ ได้แก่ ประเทศแคนาดา รัสเซีย เบลารุส เยอรมนี เป็นต้น
แหล่งโพแทชบำเหน็จณรงค์
ในขณะที่ประเทศไทย โดยกรมทรัพยากรธรณีก็ได้มีการค้นพบแหล่งแร่โพแทชที่มีความสมบูรณ์ในภาคอีสาน โดยเฉพาะในเขตอำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งมีความเหมาะสมที่จะสามารถดำเนินการทำเหมืองในเชิงพาณิชย์ได้
จากการสำรวจพบว่าแหล่งโพแทชบำเหน็จณรงค์เป็นแร่โพแทชชนิดคาร์นัลลิไทต์ (KCl.MgCl2.6H2O+NaCl) ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่มีความหนาของชั้นแร่เฉลี่ยมากกว่า 15 เมตร โดยส่วนใหญ่พบที่ความลึกเฉลี่ยจากผิวดินเพียง 100-250 เมตร ซึ่งทั้งสอง ปัจจัยนี้ถือเป็นปัจจัยบวกอย่างมากเมื่อเทียบกับเหมืองโพแทชเหมืองอื่นๆ
ปริมาณแหล่งแร่สำรองทางธรณีวิทยาในพื้นที่เขตคำขอประทานบัตรของโครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียน มีปริมาณทั้งสิ้นประมาณ 430 ล้านตัน คิดเป็นปริมาณแหล่งแร่สำรองที่สามารถทำเหมืองได้ประมาณ 158 ล้านตัน ซึ่งสามารถทำเหมืองได้ตลอดอายุประทานบัตร 25 ปี
ปัจจุบัน ประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ความต้องการอาหารก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว สวนทางกับพื้นที่ในการทำการเกษตรที่ลดน้อยลง และเพื่อให้ได้ผลผลิตที่เพียงพอต่อการบริโภคของมนุษย์ การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง ในขณะที่แหล่งแร่โพแทชมีอย่างจำกัด ดังนั้น จึงเริ่มมีการสำรวจเพื่อหาแหล่งแร่โพแทชแหล่งใหม่ขึ้นอย่างจริงจัง โดยในปัจจุบันมีหลายประเทศที่ได้เริ่มการพัฒนาโครงการไปแล้ว เช่น บราซิล สาธารณรัฐคองโก เอริเทรีย เอธิโอเปีย สหรัฐอเมริกา รวมถึง สปป.ลาว เป็นต้น
