การทำเหมืองเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินงาน
โครงการฯ ได้นำเทคโนโลยีการทำเหมืองใต้ดินแบบห้องสลับเสา/กำแพงค้ำยัน
(Room and Pillar) มาใช้ ซึ่งเป็นวิธีการที่มีความปลอดภัยสูง
ตามมาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก
โครงการได้ว่าจ้างบริษัท ERCOSPLAN Ingenieurgesellschaft GmbH ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการทำเหมืองแร่โพแทชใต้ดินมาอย่างยาวนาน เพื่อศึกษาและหาวิธีการทำเหมืองที่เหมาะสมกับแหล่งแร่โพแทชของโครงการ จากการศึกษาสรุปว่า วิธีการทำเหมืองใต้ดินที่เหมาะสมที่สุด คือ การทำเหมืองแบบห้องสลับ/กำแพงเสาค้ำยัน ซึ่งเป็นวิธีการที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลกและทำกันแพร่หลายมานานกว่า 150 ปี
การทำเหมืองแบบห้องสลับเสา/กำแพงค้ำยันเป็นวิธีที่ช่วยควบคุมการลดระดับของผิวดินได้ดีและการนำหางแร่ลงไปถมกลับยังช่องว่างเหมืองใต้ดินจะยิ่งช่วยเพิ่มความแข็งแรงและควบคุมการลดระดับให้เกิดขึ้นน้อยที่สุดและอยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ ต่อโครงสร้างทางวิศวกรรมและลักษณะธรรมชาติในพื้นที่เหมืองและพื้นที่ใกล้เคียง
การทำเหมืองทดลอง
โครงการได้ทำการศึกษาและทดลองทำเหมืองใต้ดินแบบห้องสลับกำแพงค้ำยัน โดยเริ่มจากการขุดปล่องอุโมงค์ลาดเอียงเพื่อเป็นทางเข้าสู่ชั้นแร่ จากนั้นจึงทดลองทำเหมือง โดยมีรายละเอียดดังนี้
● ขุดปล่องอุโมงค์ลาดเอียด ขนาด 6 X 3 เมตร ยาว 935 เมตร มีความลาดเอียง 1:5 และลึกจากผิวดิน 180 เมตร (แล้วเสร็จในปี 2540)
● ทดลองทำเหมืองใต้ดินแบบห้องยาวสลับกำแพงค้ำยัน ขนาดกว้าง 15 เมตร สูง 25 เมตร ยาว 60 เมตร และมีกำแพงค้ำยันกว้าง 20 เมตร ยาวตลอดทั้งแนวเป็นตัวแร่ที่เว้นเพื่อค้ำยันตัวเอง จำนวน 3 Stopes (แล้วเสร็จในปี 2542)
● จากนั้นทำการติดตั้งสถานีเฝ้าระวังการลดระดับของผิวดินบริเวณตำแหน่งพื้นที่เหมืองทดลอง ค่าที่วัดได้ตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบัน พบว่าค่าการลดระดับของผิวดินไม่ส่งผลต่อโครงสร้างบนพื้นดินในบริเวณที่ทำเหมืองทดลองแต่อย่างใด ซึ่งเป็นการยืนยันว่าการทำเหมืองใต้ดินแบบห้องสลับเสา/กำแพงค้ำยันมีความเหมาะสมสำหรับแหล่งแร่โพแทชของโครงการ
วิธีการทำเหมืองใต้ดิน
วิธีการทำเหมืองใต้ดินที่โครงการฯ เลือกใช้จะเป็นวิธีการทำเหมืองใต้ดินแบบห้องสลับเสา/กำแพงค้ำยัน ซึ่งเป็นวิธีที่มีปลอดภัยสูง โดยจะมีการขุดแร่ออกมาเฉลี่ยเพียง 1 ใน 3 ของปริมาณแร่ทั้งหมด ส่วนที่เหลือจะใช้เป็นเสา/กำแพงค้ำยันเพื่อทำให้อุโมงค์แข็งแรงมากยิ่งขึ้น อีกทั้งวิธีการนี้ยังเป็นวิธีการที่ได้รับการยอมรับและทำกันแพร่หลายทั่วโลก
วิธีการทำเหมืองใต้ดินแบบห้องสลับเสา/กำแพงค้ำยันที่โครงการจะนำมาใช้ มีทั้งสิ้น 3 วิธี ขึ้นอยู่กับความหนาของชั้นแร่ โดยมีวิธีการดังนี้
วิธีถูกออกแบบให้มีความปลอดภัยสูงตามมาตรฐานสากลและเป็นวิธีการที่ทำกันแพร่หลายและได้รับการยอมรับไปทั่วโลก
วิธีที่ 1 วิธีการทำเหมืองใต้ดินแบบห้องสลับเสาค้ำยันปกติ
(Room and Square Pillar)
เหมาะสำหรับชั้นแร่ที่มีความหนา 3-8 เมตร โดยการเจาะทลายแร่ในแนวนอน โดยจะทำการขุดอุโมงค์เป็นห้องกว้าง 15 เมตร ยาว 400 เมตร ขนานกัน โดยเว้นระยะระหว่างห้อง 20 เมตร จากนั้นจะทำการเจาะทลายแร่ในแนวขวางเพื่อเชื่อมต่ออุโมงค์ในแนวขนานเหล่านี้ ซึ่งจะทำให้เกิดเสาค้ำยันขนาด 20x20 เมตร อยู่ทั่วไปในห้องผลิตแร่ เป็นตัวแร่ที่เว้นเพื่อค้ำยันตัวเอง

วิธีที่ 2 วิธีการทำเหมืองใต้ดินแบบห้องสลับเสาค้ำยันแบบผสมวิธีขั้นบันได
(Room and Pillar with Additional Benching)
เหมาะสำหรับชั้นแร่ที่มีความหนา 8-15 เมตร โดยในช่วงบนของชั้นแร่จะขุดเจาะทลายแร่เช่นเดียวกันกับวิธีที่ 1 จากนั้นจะเหลือชั้นแร่ช่วงล่าง จะทำการเจาะทลายในแนวดิ่ง โดยเว้นแร่เพื่อค้ำยันเป็นเสาแร่ไว้เช่นเดิม ซึ่งจะได้ห้องผลิตแร่ลักษณะเช่นเดียวกับแบบ Room and Pillar แต่มีความสูงของห้องสูงกว่า

วิธีที่ 3 วิธีการทำเหมืองใต้ดินแบบห้องยาวสลับกำแพงค้ำยัน
(Room and Pillar with Long Pillar)
เหมาะสำหรับชั้นแร่ที่มีความหนา 15-25 เมตร โดยพัฒนาอุโมงค์เข้าสู่ชั้นแร่ 2 อุโมงค์ คือ เจาะอุโมงค์บนและอุโมงค์ล่างขนานกันไป เมื่อถึงตำแหน่งที่จะทำห้องผลิตแร่จะทำการขุดเจาะเพื่อทะลายแร่ จากนั้นจะนำแร่ออกมาโดยใช้รถตักลำเลียงแร่ ห้องผลิตแร่ที่นำเอาแร่ออกมาจะมีขนาดกว้าง 15 เมตร ยาว 400 เมตร โดยจะทิ้งตัวแร่ให้เป็นกำแพงค้ำยันขนาด 20x400 เมตร