การจัดการสิ่งแวดล้อม

คุณภาพน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน

การประเมินผลกระทบคุณภาพน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน

การทำเหมืองของโครงการในภาวะปกติจะไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำผิวดิน เนื่องจากมีการจัดการระบบระบายน้ำในโครงการ การจัดการบ่อเก็บหางแร่โดยการใช้วัสดุรองพื้นที่ไม่ยอมให้น้ำซึมผ่าน การติดตามตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอจะทำให้สามารถตรวจพบความเสียหายหรือการชำรุดของแผ่น Liner ที่ปูพื้นบ่อเก็บหางแร่ได้ และสามารถดำเนินการตามแผนการแก้ไข เพื่อป้องกันไม่ให้หางแร่กระจายออกไปนอกพื้นที่โครงการ ดังนั้น ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการปนเปื้อนของหางแร่ในน้ำผิวดินจะอยู่ในระดับต่ำ


มาตรการในการป้องกันผละกระทบ

โครงการฯ ได้วางมาตรการในการป้องกันผลกระทบไว้ดังนี้

● โครงการได้จัดเตรียมพื้นที่ประมาณ 5,600 ไร่ โดยจะใช้เป็นพื้นที่บ่อเก็บหางแร่เพียง 2,500 ไร่ ซึ่งสามารถรองรับหางแร่จากการทำเหมืองได้ตลอดอายุประทานบัตร การที่เตรียมพื้นที่ขนาดใหญ่ก็เพื่อที่จะทำให้กองหางแร่ไม่สูง ซึ่งจะช่วยหลบลมและทำให้ทัศนียภาพไม่สูญเสียไป

● สร้างคันดินรอบบ่อและปูพื้นบ่อด้วยแผ่นวัสดุกันซึม HDPE (พลาสติกสังเคราะห์ที่มีความหนาแน่นสูง) หนา 1.5 มม. จำนวน 2 ชั้น (Double Liner System)

● ติดตั้งระบบตรวจสอบการรั่วซึมของหางแร่ในบ่อ โดยการวางท่อก้างปลาในพื้นที่บ่อระหว่างวัสดุปูบ่อชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 กระจายทั่วพื้นบ่อ หากเกิดมีการรั่วซึมของน้ำเกลือ ณ จุดหนึ่งจุดใดในบ่อ น้ำเกลือจะถูกดักโดยแผ่นวัสดุกันซึมชั้นล่างและไหลมารวมกันที่ท่อก้างปลาเจาะรูพรุน ซึ่งจะพาน้ำเกลือไหลออกมาจากบ่อผ่านท่อมาเก็บในบ่อกักเก็บการรั่วซึมซึ่งกระจายอยู่บริเวณโดยรอบบ่อ  จากนั้นจะเร่งทำการซ่อมแซมรอยฉีกขาดบนแผ่นวัสดุกันซึมชั้นบนทันที เพื่อให้มั่นใจได้ว่าหางแร่ในบ่อเก็บหางแร่นี้จะไม่รั่วซึมออกสู่ภายนอกอย่างแน่นอน

● ปลูกไม้ยืนต้นที่โตเร็วและทนต่อความเค็มได้สูง เช่น กระถินณรงค์ ยูคาลิปตัส สะเดา เป็นต้น เพื่อใช้เป็นแนวกันลมและช่วยสร้างทัศนียภาพที่สวยงาม

● ทันทีที่มีช่องว่างในเหมืองใต้ดินเพียงพอจะทำการถมกลับหางแร่ลงไปในช่องว่างเหมืองใต้ดินทันที เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยถาวรและยังช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพให้แก่อุโมงค์ใต้ดิน ทั้งนี้เมื่อสิ้นสุดการทำเหมืองแล้วจะไม่มีหางแร่เหลืออยู่บนพื้นดินอีกต่อไป