การจัดการสิ่งแวดล้อม
การจัดการสิ่งแวดล้อม
ฝุ่นเกลือ
โครงการเหมืองแร่โพแทชอาเซียน
มีความมุ่งมั่นที่จะควบคุมฝุ่นเกลือด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย
ที่สามารถควบคุม กักเก็บ และดักจับฝุ่นเกลือ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากฝุ่นเกลือ
ฝุ่นเกลือที่เกิดจากการดำเนินโครงการเป็นอีกประเด็นหนึ่งของการประเมินผลกระทบทางด้านอากาศ โดยบริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมได้ทำการประเมินโดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ AERMOD ซึ่งจากการประเมิน พบว่า ปริมาณการตกสะสมของฝุ่นเกลือ NaCl และ KCl ต่อปี มีค่าประมาณ 0.0979 และ 0.5349 กรัม/ตารางเมตร ตามลำดับ โดยการตกสะสมของฝุ่นเกลือ KCl จะทำให้เกิดผลกระทบทางบวกต่อพื้นที่เกษตรกรรมเนื่องจาก โปแตสเซียมเป็นธาตุอาหารหลักที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช ส่วนการตกของฝุ่นเกลือ NaCl บนผิวดินมีโอกาสทำให้ความเค็มของดินเพิ่มขึ้นในปริมาณ 0.04 กรัม Na/ตารางเมตร/ปี การประเมินผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของโซเดียมในดิน เนื่องจาก NaCl และ KCl มีศักยภาพในการละลายน้ำสูงมาก ฝุ่นเกลือจึงจะถูกกำจัดโดยน้ำฝนทุกปีต่อเนื่อง
โดยปกติดินในบริเวณพื้นที่โครงการมีปริมาณโซเดียมในดินอยู่ 18.36 กรัม/ตารางเมตร อยู่แล้วแม้จะไม่มีโครงการเกิดขึ้น แต่เมื่อมีโครงการเกิดขึ้นจะมีปริมาณโซเดียมในดินเพิ่มขึ้นอีก 0.04 กรัม/ตารางเมตร/ปี ซึ่งเป็นปริมาณที่น้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณที่มีอยู่แล้วในดินก่อนมีโครงการ ดังนั้น ระดับนัยสำคัญของผลกระทบจากฝุ่นเกลือที่ปล่อยออกสู่บรรยากาศและตกลงสู่ผิวดินจึงอยู่ในระดับที่ต่ำมาก