โครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียน มีความมุ่งมั่นที่จะควบคุมฝุ่นเกลือด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย
ที่สามารถควบคุม กักเก็บ และดักจับฝุ่นเกลือ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากฝุ่นเกลือ
ฝุ่นเกลือที่เกิดจากการดำเนินโครงการเป็นอีกประเด็นหนึ่งของการประเมินผลกระทบทางด้านอากาศ โดยบริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมได้ทำการประเมินโดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ AERMOD ซึ่งจากการประเมิน พบว่า ปริมาณการตกสะสมของฝุ่นเกลือ NaCl และ KCl ต่อปี มีค่าประมาณ 0.0979 และ 0.5349 กรัม/ตารางเมตร ตามลำดับ โดยการตกสะสมของฝุ่นเกลือ KCl จะทำให้เกิดผลกระทบทางบวกต่อพื้นที่เกษตรกรรมเนื่องจาก โปแตสเซียมเป็นธาตุอาหารหลักที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช ส่วนการตกของฝุ่นเกลือ NaCl บนผิวดินมีโอกาสทำให้ความเค็มของดินเพิ่มขึ้นในปริมาณ 0.04 กรัม Na/ตารางเมตร/ปี การประเมินผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของโซเดียมในดิน เนื่องจาก NaCl และ KCl มีศักยภาพในการละลายน้ำสูงมาก ฝุ่นเกลือจึงจะถูกกำจัดโดยน้ำฝนทุกปีต่อเนื่อง
โดยปกติดินในบริเวณพื้นที่โครงการมีปริมาณโซเดียมในดินอยู่ 18.36 กรัม/ตารางเมตร อยู่แล้วแม้จะไม่มีโครงการเกิดขึ้น แต่เมื่อมีโครงการเกิดขึ้นจะมีปริมาณโซเดียมในดินเพิ่มขึ้นอีก 0.04 กรัม/ตารางเมตร/ปี ซึ่งเป็นปริมาณที่น้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณที่มีอยู่แล้วในดินก่อนมีโครงการ ดังนั้น ระดับนัยสำคัญของผลกระทบจากฝุ่นเกลือที่ปล่อยออกสู่บรรยากาศและตกลงสู่ผิวดินจึงอยู่ในระดับที่ต่ำมาก
มาตรการในการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากฝุ่นเกลือ
โครงการฯ ได้วางมาตรการในการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากฝุ่นเกลือ โดยแบ่งแหล่งที่อาจจะก่อให้เกิดฝุ่น ออกเป็น 3 ส่วน คือ
1. ส่วนเหมืองใต้ดิน
● สามารถใช้ remote control ในการสั่งงานเครื่องจักรที่ต้องทำงานในบริเวณที่จะเกิดฝุ่นเกลือจำนวนมาก ดังนั้นพนักงานจะไม่ได้รับฝุ่นโดยตรง
● ติดตั้งพัดลมระบายอากาศและเครื่องดักจับฝุ่นบริเวณที่อาจก่อให้เกิดฝุ่น
● พนักงานทุกคนจะมีหน้ากากสวมใส่เพื่อป้องกันฝุ่นอีกทางหนึ่ง
● จัดให้มีการตรวจสุขภาพให้กับพนักงานเป็นประจำทุกปี
2. โรงแต่งแร่
● ออกแบบโรงแต่งแร่ให้อุปกรณ์เครื่องจักรต่างๆ ในจะอยู่ภายในอาคารที่ปิดมิดชิด
● ใช้เครื่องจักร อุปกรณ์ และสายพานลำเลียงที่เป็นระบบปิด
● ติดตั้งเครื่องดักจับฝุ่นละอองบริเวณโรงแต่งแร่และบริเวณขนถ่ายแร่ เพื่อควบคุมคุณภาพอากาศที่ระบายออกให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานกำหนด
● ติดตั้งอุปกรณ์ในการติดตามตรวจสอบการแพร่กระจายของฝุ่นในบริเวณต่างๆ รอบพื้นที่โครงการ
● ก่อนการขนถ่ายปุ๋ยโปแตชออกนอกโครงการ จะมีการควบคุมการฟุ้งกระจายของฝุ่นโดยใช้น้ำมันกำจัดฝุ่น
● ปลูกไม้ยืนต้นตลอดแนวเขตพื้นที่โครงการ เพื่อเป็นกำแพงธรรมชาติ ช่วยกรองฝุ่นละอองได้อีกชั้นหนึ่ง
● ติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศทั้งจากปล่องระบายอากาศและในบรรยากาศทั่วไป หากพบว่ามีค่าสูงเกินมาตราฐานกำหนด ต้องรีบดำเนินการแก้ไขทันที
3. บ่อเก็บหางแร่
● โครงการได้จัดเตรียมพื้นที่ประมาณ 5,600 ไร่ โดยจะใช้เป็นพื้นที่บ่อเก็บหางแร่เพียง 2,500 ไร่ ซึ่งสามารถรองรับการทำเหมืองได้ตลอดอายุประทานบัตร การที่บริษัทเตรียมพื้นที่ขนาดใหญ่ก็เพื่อที่จะทำให้กองหางแร่ไม่สูง ซึ่งจะช่วยหลบลมและทำให้ทัศนียภาพไม่สูญเสียไป
● สร้างคันดินรอบบ่อและปูพื้นบ่อด้วยแผ่นวัสดุกันซึม HDPE หนา 1.5 มม. จำนวน 2 ชั้น
● ติดตั้งระบบตรวจสอบการรั่วซึมในบ่อเก็บหางแร่ โดยการวางท่อก้างปลาลงไปในพื้นที่บ่อระหว่างวัสดุปูบ่อชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 กระจายทั่วพื้นบ่อ
● ใช้ระบบฉีดพรมน้ำ ในกรณีที่ตรวจพบการแพร่กระจายของฝุ่นเกลือบริเวณกองหางแร่
● ปลูกไม้ยืนต้นที่โตเร็วและทนต่อความเค็มได้สูง เพื่อใช้เป็นแนวกันลมและช่วยสร้างทัศนียภาพที่สวยงาม
● ทันทีที่มีช่องว่างในเหมืองใต้ดินเพียงพอจะทำการถมกลับหางแร่ลงไปในช่องว่างเหมืองใต้ดินทันที เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยถาวรและยังช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพให้แก่อุโมงค์ใต้ดิน ทั้งนี้เมื่อสิ้นสุดการทำเหมืองแล้วจะไม่มีหางแร่เหลืออยู่บนพื้นดินอีกต่อไป